วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

JR202 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับข้อมูล ข่าวสาร และข้อเท็จจริง

JR202 Principle of Multimedia Journalism Writing

1. ข้อมูลข่าวสาร
     ธรรมชาติของข้อมูลข่าวสาร หมายถึง ความจริง หรือสภาวะที่ข้อมูล ข่าวสาร มีอยู่ เป็นอยู่ การรู้ธรรมชาติของข้อมูลข่าวสาร ก็คือ การรู้ความจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้น รู้กฏเกณฑ์ รู้ที่มา รู้สภาวการณ์ที่เป็นไปของข้อมูลตามเหตุปัจจัยต่าง ๆ เพื่อจะได้วินิจฉัย ประเมินค่า ข้อมูลข่าวสารได้อย่างถูกต้องและเที่ยงตรง


     ธรรมชาติของข้อมูลข่าวสาร
     1.   เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และสูญหายได้ตามกาลเวลา ข้อมูลบางชนิดมีอายุสั้น บ้างก็ได้รับการบันทึก
           สืบทอดไว้ให้ มีอายุยืนยาวมาจนถึงชนรุ่นหลัง
     2.   มีทั้งถูกต้อง เป็นจริง เชื่อถือได้ มีทั้งบกพร่อง ผิดพลาด คลาดเคลื่อน และที่มีคุณค่าและไม่มี
           คุณค่า มีเหตุปัจจัยหลายประการ ที่ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง เช่น ข้อมูลที่
           บอกเล่าเกินจริง ด้วยเหตุที่ต้องการเพิ่มสีสันให้กับเรื่อง หรืออาจไม่รายงานความจริงทั้งหมด
           ด้วยจุดประสงค์ที่หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ ที่เกี่ยวพันกับชื่อเสียงเกียรติยศ หรือ ผลประโยชน์ของตน
           นอกจากนี้การอคติ หรือมีค่านิยมบางประการ อาจเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งเห็นความจริงต่างไป
           จากอีกบุคคลหนึ่่งได้ แม้จะเป็นเหตุการณ์เดียวกัน     
     3.   ไม่มีความเป็นกลาง เพราะย่อมอยู่ภายใต้กรอบโครงสร้างสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง
           สังคม เป็นต้น ข้อมูลที่มนุษย์สร้างขึ้น ย่อมมีที่มาจากความคิด ความสนใจเกณฑ์ทางวิชาการ
           ทัศนคติส่วนตัว อันแฝงไว้ซึ่งศาสนา ค่านิยม ประวัติศาสตร์การเมือง ภาวะเศรษฐกิจ และอื่น ๆ
           ที่สิ่งแวดล้อมผู้สร้างไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น กระบวนการสื่อสาร โดยผ่านสื่อมวลชนนั้น
           สารที่ถูกส่งผ่านมิใช่ตัวความเป็นจริง เนื่องจากได้ผ่านอัตวิสัยในการคัดเลือก เลือกสรรภายใต้
           การทำงานที่ต้องแข่งขันกับเวลา ผ่านการบรรณาธิกรณ์ การตัดต่อ ตลอดจน การควบคุม
           ตรวจสอบ ข่าวสารที่ได้จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความจริงเท่านั้น
     4.   มิได้มีความสมบูรณ์รอบด้านในตัวเอง ข้อมูลข่าวสารบางอย่างมีสารประโยชน์ แต่อาจให้ข้อมูล
           ในประเด็นที่จำกัด เช่น การนำเสนอข้อมูลของนักข่าว ซึ่งนักข่าวอาจมองในมุมของนักข่าว
           เองเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่อาจจะมีมุมอื่น ๆ ให้มองอีกจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความครบถ้วน สมบูรณ์
           ของข้อมูลข่าวสาร จำเป็นต้องมีการแสวงหา พินิจพิจารณาตรวจสอบข้อมูลในเรื่องนั้น ๆ จาก
           หลายแหล่ง รวมทั้งการมองออกไปนอกแหล่งข้อมูลที่เป็นกระแสหลัก ตลอดจนขยับขยาย
           ขอบเขตออกไปนอกพรมแดนแขนงวิชาใดวิชาหนึ่งด้วย เพื่อให้สามารถโยงข้อมูลหลักฐานเหล่านั้น
           เข้าด้วยกัน ให้เห็นภาพรวมที่กระจ่างและใกล้เคียงความเป็นจริง




     ความหมายของ "ข้อมูล" "ข่าวสาร"       
        ข้อมูล หมายถึง กลุ่มของสัญลักษณ์ที่ไม่มีการประมวลผล (คำ คุณค่า ตัวเลข และภาพ) เป็นตัวแทนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ข้อมูลจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการสังเกตและการวิจัย และมีการบันทึกไว้ บางครั้งอาจเรียกข้อมูลว่า ข้อมูลดิบ หรือข้อมูลพื้นฐาน หรือหมายถึงระเบียนข้อมูลขององค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบวันต่อวัน

        ข่าวสาร หรือ สารสนเทศ หมายถึง สิ่งที่สื่อความหมายให้รู้เรื่องราว ข้อเท็จจริง ข้อมูล หรือ สิ่งใดๆ ไม่ว่าจะจัดทำไว้ในรูปของเอกสาร แฟ้ม รายงาน หนังสือ แผนผัง แผนที่ ภาพวาด ภาพถ่าย ฟิล์ม การบันทึกภาพหรือเสียง การบันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือวิธีอื่นใดที่ทำให้สิ่งที่บัทึกปรากฏได้

     คุณลักษณะสำคัญของสารสนเทศ
     ข่าวสาร หรือสารสนเทศ มีคุณลักษณะสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
          1)   เป็นข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลแล้ว การประมวลผลอาจเกิดจากการคัดเลือก การเลือกสรร
                สิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่จำเป็น หรือสิ่งที่ต้องการ สำหรับผู้รับสาร จากนั้นนำมาเรียบเรียงให้เหมาะสม
                เป็นที่เข้าใจ และสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้
          2)   รูปแบบที่มีประโยชน์นำมาใช้งานได้ เช่น การนำข้อมูลดิบมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ แยกแยะ
                หรือจัดหมวดหมู่ ตัดข้อมูลที่ไม่จำเป็นออก เพิ่มเติมรายละเอียดที่สามารถสร้างความเข้าใจให้กับ
                ผู้รับสาร และนำมาเรียบเรียงเป็นข่าว บทความ ความเรียง บทวิพากษ์วิจารณ์ บทละคร ฯลฯ
                ซึ่งผู้รับสารสามารถรับข่าวสารด้วยความรวดเร็ว และสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้
          3)   มีคุณค่าสำหรับใช้ในการดำเนินงานหรือตัดสินใจ หมายความว่า ผู้จัดการกับข้อมูลจะต้องมี
                วิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สามารถประเมินข้อมูลได้ว่าอะไรเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ ข้อมูลใดก่อ
                ให้เกิดโทษ และสามารถนำมาเสนอให้ประชาชนได้รับรู้ต่อไป

     ถ้าพิจารณาในแง่ของกระบวนการการสื่อสาร จะพบว่า "สารสนเทศ" มีจุดเน้นใน 3 ลักษณะด้วยกัน คือ
          1)   สารสนเทศในแง่ของสาร (Message) หมายถึง สัญลักษณ์ (Symbol) ข้อมูล (Data)
                และเนื้อหา (Content) ที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสาร
          2)   สารสนเทศในแง่ของผล (Effect) ของการสื่อสาร หมายถึง สิ่งที่ก่อให้เกิดความรู้ (Knowledge)
                ทัศนคติ (Attitude) และพฤติกรรม (Behavior)
          3)   สารสนเทศในแง่ของหน้าที่ (Function) ของการสื่อสาร หมายถึง การนำเสนอข้อเท็จจริง (Facts)
                ไปยังผู้รับสาร


      ความสำคัญของข้อมูล ข่าวสาร
           สังคมที่มีความสลับซับซ้อน และเต็มไปด้วยการแข่งขันนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่บุคคล หรือกลุ่มที่เป็นหน่วยของสังคม จะต้องมีเครื่องมือในการดำเนินชีวิต เพื่อความอยู่รอด และความสงบสุขของสังคม ในสมัยอดีตเราอาจจะคิดว่าเครื่องมือในการดำเนินชีวิตน่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ เงินตรา แต่ทว่าในสังคมปัจจุบัน การมีเงินตราอย่างมากมายก็ใช่ว่าจะทำให้การดำเนินชีวิตมีความสงบสุขได้ เนื่องจากสังคมทุกวันนี้ผู้ที่จะรอดได้อย่างมีความสุข คือ ผู้ที่มีข้อมูล ข่าวสาร เท่าทันเหตุการณ์ และรู้จักใช้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง มีนักวิชาการบางท่านเสนอความเห็นว่า ข้อมูล ข่าวสารควรจจะเข้าไปเป็นองค์ประกอบสำคัญของงานทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านการผลิต นอกเหนือจาก Man Money Material และ Management แล้ว ควรต้องมี Media และ Information ด้วย

           อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าข้อมูลข่าวสารจะมีคุณประโยชน์อย่างมากมาย แต่ในความมีคุณประโยชน์นั้น ก็อาจแฝงไปด้วยโทษอย่างมหันต์เช่นกัน ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะถ้าผู้นำเสนอข่าวสาร ขาดความรับผิดชอบ เสนอข่าวสารที่ไร้คุณภาพ ผู้รับข้อมูลข่าวสารก็อาจจะต้องรับโทษของข้อมูลข่าวสารไปโดยไม่รู้ตัว
           ข้อมูลข่าวสารที่ดี ย่อมมีศักยภาพอย่างมหาศาลในการพัฒนาประเทศชาติ ทั้งทางด้านการเมือง ด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

           ด้านการเมือง
                  1.   ช่วยให้ทราบถึงพฤติกรรมของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง
                  2.   ทำให้ทราบประชามติของคนในสังคม เกี่ยวกับปัญหาทางการเมือง
                  3.   ช่วยให้การใช้อำนาจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในการทางการเมืองเป็นไป
                        อย่างถูกต้อง
                  4.   ช่วยให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง

           ด้านสังคม
                  1.   ช่วยให้ทราบภัยพิบัติที่เกิดขึ้น หรือกำลังเกิดขึ้น หรือภัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
                        เช่น ภัยธรรมชาติ ภัยสงคราม ภัยทางสารเคมี ภัยจากโรคร้ายต่าง ๆ
                  2.   ช่วยให้ทราบความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อที่จะได้สามารถปรับตัวให้เข้ากับ
                        สังคมได้ เช่น การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
                  3.   ช่วยให้ประชาชนในสังคมรู้จักการป้องกันตนเองก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ
                  4.   ช่วยให้ทราบวิวัฒนาการความเป็นไปของสังคม และรู้จักสังคม เข้าใจสังคม รวมทั้ง
                        พร้อมที่จะรักษาสังคมให้ดำรงอยู่ต่อไป

           ด้านเศรษฐกิจ
                  1.   ช่วยให้ทราบสภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปในขณะนั้น
                  2.   ช่วยให้สามารถตัดสินใจกับการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง และลดความเสี่ยง
                        ให้น้อยลง
                  3.   ช่วยให้มีความพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้
                  4.   เพื่อเป็นข้อมูลป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งอาจจะเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่
                        มุ่งหวังผลกำไรเกินควร

           ด้านวัฒนธรรม
                  1.   ช่วยสืบทอดวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน
                  2.   ช่วยเสริมความเจริญเติบโตทางวัฒนธรรม
                  3.   ช่วยป้องกันการแทรกแซงทางวัฒนธรรม
                  4.   ช่วยให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน คงความเห็นพร้องต้องกันทางวัฒนธรรม


2. ความจริง หรือข้อเท็จจริง
     การแสวงหาข้อเท็จจริงของเรื่องราวต่าง ๆ ถือเป็นภาระหน้าที่หลักของงานสื่อสารมวลชนจำเป็นอย่างยิ่งที่นักสื่อสารมวลชนต้องรู้และเข้าใจใน "ข้อเท็จจริง" เสียก่อน เพื่อที่จะไปแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมโลกปัจจุบัน ซึ่งมีความสลับซับซ้อนได้

     ความเข้าใจใน "ข้อเท็จจริง"
     ถ้าจะกล่าวถึงความเข้าใจเกี่ยวกับ "ข้อเท็จจริง" มักจะหาข้อยุติได้ยาก เนื่องจากความจริงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างมีทรรศนะ ความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป
     ปรัชญาเมธีโซฟิสต์ โพทากอรัส เน้นเรื่องการรับรู้ว่า โลกจะมีลักษณะอย่างไร ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละคน สิ่งที่แต่ละคนรับรู้นั้นไม่มีใครจะสามารถตัดสินได้ว่าแบบไหนถูกแบบไหนผิด พระผู้เป็นเจ้ามีจริงหรือก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคล
     จะเห็นได้ว่า ความจริงที่ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละบุคคลดูจะยุ่งเหยิงและสับสน นอกจากนี้ความจริงอาจจะได้มาจากการชักจูงใจของอาจารย์ผู้สอน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการใช้วาทศิลป์ชักจูงนักศึกษา
     นิยามที่เหมาะสมที่สุดของความจริงคืออะไร
          1.   สิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงกันข้ามกับ "ความไม่จริง"
          2.   มีการทดสอบให้เห็นจริง เช่น เมื่อมองด้วยตาเราเห็นเส้นตรงเป็นเส้นโค้ง เพื่อความแน่ใจ
                จึงนำไม้บรรทัดมาวางทาบดู ปรากฏว่าเป็นเส้นตรง ดังนั้นเส้นที่เรามองเห็นจึงเป็นเส้นตรง
                ตามที่ทดลองดู

          3.   เป็นเหตุ เป็นผลซึ่งกันและกัน เช่น การอ่านหนังสือ ทำให้สอบผ่าน ความพรากเพียร พยายาม
                เป็นเหตุให้งานประสบความสำเร็จ


วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

JR202 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวารสารศาสตร์

JR202 Principle of Multimedia Journalism Writing

     การเขียนเชิงวารสารศาสตร์ (Journalistic Writing)


     ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับวารสารศาสตร์
     โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า "วารสารศาสตร์" (Journalism) คือ วิชาที่ว่าด้วยการนำเสนอข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ อันได้แก่ จุลสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ แต่ความเข้าใจดังกล่าวก็ใช่ว่าจะผิดเสียทีเดียว เนื่องจากในอดีต การศึกษาทางด้านวารสารศาสตร์ เน้นที่สื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อที่ทันสมัย และมีอิทธิพลต่อผู้อ่านมากที่สุดในขณะนั้น แต่วิวัฒนาการสื่อมวลชนไม่ได้หยุดยั้งอยู่ที่สื่อสิ่งพิมพ์ ยังปรากฏมีสื่ออื่น ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์  หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์
     สื่อต่าง ๆ เหล่านี้ล่วนทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังผู้รับสารทั้งสิ้น ดังนั้น การศึกษาหาความรู้ทางด้านวารสารศาสตร์ในปัจจุบันจึงเป็นการศึกษาในสื่อสิ่งพิมพ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องทำความเข้าใจในสื่ออื่น ๆ ด้วย อันได้แก่ สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ และระบบการสื่อสารที่ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์


     ธรรมชาติของการสื่อความหมายในสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ
     หนังสือพิมพ์          สื่อความหมายโดยผ่านทางภาษาเขียน ภาษาภาพ (ภาพนิ่ง)
     วิทยุกระจายเสียง     สื่อความหมายโดยผ่านทางภาษาเสียง
     โทรทัศน์              สื่อความหมายโดยผ่านทางภาษาเขียน ภาษาภาพ (ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว)
                            และภาษาเสียง ทั้งที่เป็นการสื่อสารทางเดียว และการสื่อสารสองทาง

     คอมพิวเตอร์          สื่อความหมายโดยผ่านทางภาษาเขียน ภาษาภาพ (ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว)
                            และภาษาเสียง ทั้งที่เป็นการสื่อสารทางเดียว และการสื่อสารสองทาง
                            รวมทั้งยังมีการปฏิสัมพันธ์ โต้ตอบระหว่างคู่สื่อสารในลักษณะการสื่อสาร
                            ระหว่างบุคคล ทั้งที่เห็นหน้าตา (Face to Face) และไม่เห็นหน้าตา
                            ขณะทำการสื่อสาร



     จะเห็นได้ว่าสื่อที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้วิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว จนบางครั้งอาจเกิดปรากฏการณ์ "ตามสื่อไม่ทัน""รู้ไม่เท่าทันสื่อ" และ "ตกเป็นทาสสื่อ" ในที่สุด




     ความหมาย และความสำคัญของ "วารสารศาสตร์" (Journalism)
     วารสารศาสตร์ หมายถึง การนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ในรูปของข่าว (News) และความคิด (Ideas) ในรูปของบทความ บทรายงาน คอลัมน์ บทวิจารณ์ บทสัมภาษณ์ ไปยังสาธารณชน โดยผ่านสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ


     ความสำคัญของสื่อมวลชนด้านวารสารศาสตร์
     พระธรรมปิฏก ได้กล่าวไว้ว่า
     1.  นำเสนอข่าวสารถูกต้อง แม่นยำ ตรงประเด็น น่าเชื่อถือ
     2.  พัฒนาคุณภาพของประชาชน โดยเฉพาะการพัฒนาทางปัญญา ให้ประชาชนมีความใฝ่รู้ สนใจสิ่งที่เป็นแก่นสาร เป็นสาระ ไม่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวข่าวตื่นเต้น สื่อมวลชนต้องเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ คือ บอกกล่าวสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
     3.  ช่วยแก้กระแสร้ายในสังคม อะไรที่เป็นอันตราย หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคม สื่อมวลชนต้องยกมานำเสนอ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหา เท่ากับเป็นยามระวังภัยให้กับสังคม
     4.  ทำหน้าที่เป็นผู้นำที่ดีของสังคม หน้าที่นี้จะสำเร็จได้ต้องขึ้นอยู่กับความสำนึกในหน้าที่ของนักวารสารศาสตร์ที่พึงมีต่อสังคม


     ถึงแม้ว่าในสังคมปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะเข้ามามีบทบาทต่อการสื่่อสารในสังคมอย่างมาก แต่หน้าที่หลักของสื่อสารมวลชน และมัลติมีเดียทางด้านวารสารศาสตร์ ก็คือ การนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง และความคิด ไปยังผู้รับสาร
     พระเทพเวที ได้ตั้งประเด็นคำถาม เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสังคมยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
     1.  คนเรารับประโยชน์ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารมาพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมได้แค่ไหน
     2.   คนเราสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้มากน้อยเพียงใด
     3.   เราเลือกรับข้อมูลข่าวสารเป็นหรือไม่
     4.   เราเลือกเก็บสาระของข้อมูลข่าวสารหรือไม่
     5.   เราตามทันแก่นสารของข่าวสารหรือไม่ (ขุดคุ้ยถึงแหล่งข้อมูล)
     6.   เรารู้จักพิจารณาแยกแยะ วิเคราะห์เพียงใด
     7.   เราสามารถสังเคราะห์ข้อมูลให้ได้ความรู้ใหม่หรือไม่
     8.   เรามีความสามารถถ่ายทอด สื่อสารเพียงใด
     9.   เราเลือกรับประโยชน์จากข่าวสาร ข้อมูล และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงได้เพียงใด
    10.  เราให้ความสำคัญต่อภาระกิจและความรับผิดชอบของสื่อมวลชนเพียงใด

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

JR202 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมัลติมีเดีย

JR202 Principle of Multimedia Journalism Writing

     ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ มัลติมีเดีย(Multimedia)

     มัลติมีเดีย (Multimedia) จัดเป็นสื่ออีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย
ทั้งในด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประเภทสินค้าและบริการ (Product and Presentation)
การเรียนการสอน (Learning Content) การให้ความบันเทิง (Entertainment)
รวมทั้งการนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม (Journalism)
     สำหรับวัตถุประสงค์ของบทเรียนนี้ มี 3 วัตถุประสงค์ คือ
     1. ความหมายของมัลติมีเดีย
     2. องค์ประกอบของมัลติมีเดีย
     3. ประโยชน์ของมัลติมีเดีย



     ความหมายของ "มัลติมีเดีย" (Multimedia)
     เมื่อกล่าวถึงคำว่า "มัลติมีเดีย" (Multimedia) มีความหมายที่หลากหลายขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น
     มุมมองของนักศึกษา "มัลติมีเดีย" (Multimedia) อาจหมายถึง การนำสื่อที่หลากหลายมาผสมผสานกัน เพื่อความน่าสนใจ ในการนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน
     มุมมองของอาจารย์ผู้สอน "มัลติมีเดีย" (Multimedia) อาจหมายถึง การนำสื่อหลาย ๆ สื่อมาใช้เพื่อประกอบการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้นักศึกษามีความรู้ ความเข้าใจ มีความกระตือรือร้น อยากเรียนรู้มากกว่าการใช้สื่อเพียงอย่างเดียว
     มุมมองของผู้พัฒนาสื่อ "มัลติมีเดีย" (Multimedia) อาจหมายถึง การตอบโต้และการมีปฏิสัมพันธ์กัน ระหว่างผู้ใช้กับสิ่งที่ถูกใช้ (คอมพิวเตอร์)
     มุมมองของคนทั่วไป "มัลติมีเดีย" (Multimedia) อาจหมายถึง สื่อที่ใช้งานบนเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว
   
     อย่างไรก็ตาม ความหมายที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจเป็นเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือหลายๆ ส่วนของความหมายทั้งหมดก็ได้
     แต่ถ้าพิจารณาจากคำ "มัลติ" (Multi) หมายถึง การผสมผสานหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน หรือ จำนวนมาก ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า Many Much และ Multiple
     ส่วนคำว่า "มีเดีย" (Media) หมายถึง สื่อ หรือช่องทางในการสื่อสาร เช่น คำว่า "สื่อบุคคล" คือการใช้คนเป็นสื่อในการถ่ายทอดข่าวสาร จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง "สื่อสารมวลชน" คือช่องทางการสื่อสารไปยังมวลชนจำนวนมาก ในพื้นที่ที่หลากหลาย ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ได้แก่ สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น
     เมื่อนำคำ 2 คำนี้มารวมกัน "มัลติมีเดีย" (Multimedia) จึงน่าจะหมายถึง การนำสื่อหลาย ๆ สื่อมาผสมผสานเข้าด้วยกัน ทั้งที่เป็นตัวอักษร (Text) ภาพนิ่ง (Image) ภาพเคลื่อนไหว (Animation) เสียง (Sound) และวิดีโอ (Video) โดยผ่านกระบวนการทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อสื่อความหมายไปยังผู้รับสาร 



 องค์ประกอบของมัลติมีเดีย
     มัลติมีเดีย เป็นเรื่องของการผสมผสานสื่อ อันได้แก่ ข้อความหรือตัวอักษร (Text) ภาพนิ่ง (Image) ภาพเคลื่อนไหว (Animation) เสียง (Sound) และวิดีโอ (Video) เพื่อใช้สำหรับการติดต่อสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์หรือการโต้ตอบ (Interaction) ระหว่างผู้ใช้กับสิ่งที่ถูกใช้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ผู้ใช้สามารถเลือกกระทำต่อสื่อต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
     ตัวอย่างเช่น
     ผู้ใช้เลือกรายการ และตอบคำถามผ่านทางจอภาพ จากนั้นระบบคอมพิวเตอร์ก็จะทำหน้าที่ประมวลผล และแสดงผลออกมาทางหน้าจอให้ผู้ใช้ได้เห็นอีกครั้ง เป็นต้น
     การสร้างปุ่มหรือข้อความที่มีสีแตกต่างจากข้อความปกติ เมื่อผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์กับส่วนนี้ระบบก็จะเชื่อมโยงไปยังส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเป็นข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง หรือวิดีโอ ตามที่ได้ออกแบบไว้ล่วงหน้า

 

     ประโยชน์ของมัลติมีเดีย 
     1.  ง่ายต่อการใช้งาน เช่น โปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป
     2.  สัมผัสได้ถึงความรู้สึก ทั้งในด้านตัวอักษร ภาพ เสียง
     3.  สร้างเสริมประสบการณ์
     4.  เพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้
     5.  เข้าใจเนื้อหามากยิ่งขึ้น
     6.  คุ้มค่าในการลงทุน
     7.  เพิ่มประสิทธิผลในการเรียนรู้
     และอื่น ๆ

 


รวบรวมและเรียบเรียงโดย อาจารย์บุปผา บุญสมสุข