JR202 Principle of Multimedia Journalism Writing
การเขียนเชิงวารสารศาสตร์ (Journalistic Writing)
ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับวารสารศาสตร์
โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า "วารสารศาสตร์" (Journalism) คือ วิชาที่ว่าด้วยการนำเสนอข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ อันได้แก่ จุลสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ แต่ความเข้าใจดังกล่าวก็ใช่ว่าจะผิดเสียทีเดียว เนื่องจากในอดีต การศึกษาทางด้านวารสารศาสตร์ เน้นที่สื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อที่ทันสมัย และมีอิทธิพลต่อผู้อ่านมากที่สุดในขณะนั้น แต่วิวัฒนาการสื่อมวลชนไม่ได้หยุดยั้งอยู่ที่สื่อสิ่งพิมพ์ ยังปรากฏมีสื่ออื่น ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์
สื่อต่าง ๆ เหล่านี้ล่วนทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังผู้รับสารทั้งสิ้น ดังนั้น การศึกษาหาความรู้ทางด้านวารสารศาสตร์ในปัจจุบันจึงเป็นการศึกษาในสื่อสิ่งพิมพ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องทำความเข้าใจในสื่ออื่น ๆ ด้วย อันได้แก่ สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ และระบบการสื่อสารที่ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ธรรมชาติของการสื่อความหมายในสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ
หนังสือพิมพ์ สื่อความหมายโดยผ่านทางภาษาเขียน ภาษาภาพ (ภาพนิ่ง)
วิทยุกระจายเสียง สื่อความหมายโดยผ่านทางภาษาเสียง
โทรทัศน์ สื่อความหมายโดยผ่านทางภาษาเขียน ภาษาภาพ (ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว)
และภาษาเสียง ทั้งที่เป็นการสื่อสารทางเดียว และการสื่อสารสองทาง
คอมพิวเตอร์ สื่อความหมายโดยผ่านทางภาษาเขียน ภาษาภาพ (ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว)
และภาษาเสียง ทั้งที่เป็นการสื่อสารทางเดียว และการสื่อสารสองทาง
รวมทั้งยังมีการปฏิสัมพันธ์ โต้ตอบระหว่างคู่สื่อสารในลักษณะการสื่อสาร
ระหว่างบุคคล ทั้งที่เห็นหน้าตา (Face to Face) และไม่เห็นหน้าตา
ขณะทำการสื่อสาร
จะเห็นได้ว่าสื่อที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้วิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว จนบางครั้งอาจเกิดปรากฏการณ์ "ตามสื่อไม่ทัน""รู้ไม่เท่าทันสื่อ" และ "ตกเป็นทาสสื่อ" ในที่สุด
ความหมาย และความสำคัญของ "วารสารศาสตร์" (Journalism)
วารสารศาสตร์ หมายถึง การนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ในรูปของข่าว (News) และความคิด (Ideas) ในรูปของบทความ บทรายงาน คอลัมน์ บทวิจารณ์ บทสัมภาษณ์ ไปยังสาธารณชน โดยผ่านสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ
ความสำคัญของสื่อมวลชนด้านวารสารศาสตร์
พระธรรมปิฏก ได้กล่าวไว้ว่า
1. นำเสนอข่าวสารถูกต้อง แม่นยำ ตรงประเด็น น่าเชื่อถือ
2. พัฒนาคุณภาพของประชาชน โดยเฉพาะการพัฒนาทางปัญญา ให้ประชาชนมีความใฝ่รู้ สนใจสิ่งที่เป็นแก่นสาร เป็นสาระ ไม่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวข่าวตื่นเต้น สื่อมวลชนต้องเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ คือ บอกกล่าวสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
3. ช่วยแก้กระแสร้ายในสังคม อะไรที่เป็นอันตราย หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคม สื่อมวลชนต้องยกมานำเสนอ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหา เท่ากับเป็นยามระวังภัยให้กับสังคม
4. ทำหน้าที่เป็นผู้นำที่ดีของสังคม หน้าที่นี้จะสำเร็จได้ต้องขึ้นอยู่กับความสำนึกในหน้าที่ของนักวารสารศาสตร์ที่พึงมีต่อสังคม
ถึงแม้ว่าในสังคมปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะเข้ามามีบทบาทต่อการสื่่อสารในสังคมอย่างมาก แต่หน้าที่หลักของสื่อสารมวลชน และมัลติมีเดียทางด้านวารสารศาสตร์ ก็คือ การนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง และความคิด ไปยังผู้รับสาร
พระเทพเวที ได้ตั้งประเด็นคำถาม เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสังคมยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
1. คนเรารับประโยชน์ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารมาพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมได้แค่ไหน
2. คนเราสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้มากน้อยเพียงใด
3. เราเลือกรับข้อมูลข่าวสารเป็นหรือไม่
4. เราเลือกเก็บสาระของข้อมูลข่าวสารหรือไม่
5. เราตามทันแก่นสารของข่าวสารหรือไม่ (ขุดคุ้ยถึงแหล่งข้อมูล)
6. เรารู้จักพิจารณาแยกแยะ วิเคราะห์เพียงใด
7. เราสามารถสังเคราะห์ข้อมูลให้ได้ความรู้ใหม่หรือไม่
8. เรามีความสามารถถ่ายทอด สื่อสารเพียงใด
9. เราเลือกรับประโยชน์จากข่าวสาร ข้อมูล และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงได้เพียงใด
10. เราให้ความสำคัญต่อภาระกิจและความรับผิดชอบของสื่อมวลชนเพียงใด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น